ก่อนอื่นต้องบอกก่อนนะครับว่า Review อันนี้เป็นสิ่งที่ผมทำขึ้นเองเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้กับผู้ที่เริ่มเล่นเครื่องเสียงได้มีข้อมูลพื้นฐานของสายไฟ AC Power Cord ที่ได้ยินได้เห็นกันบ่อยๆในตลาดซื้อขายบ้านเรา ก่อนตัดสินใจ upgrade เปลี่ยนแปลง หรือคิดจะเสียเงินซื้อสายซักเส้นเข้ามาในระบบ ซึ่งก็คงไม่ได้ลงถึงรายละเอียดเบื้องลึกมากมายนักนะครับ
เวลาที่ผมมีโอกาสอ่าน Review ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของนักเล่นระดับประเทศ หรือหนังสือ Magazine ต่างๆ ผมมักจะมีความรู้สึกขัดใจบางอย่าง เพราะการวิเคราะห์อุปกรณ์อะไรซักอย่าง ก็มักจะเขียนถึงอุปกรณ์ชิ้นนั้นๆเพียงชิ้นเดียว แล้วก็พูดว่าดีมาก ฟังเพลงนี้แล้วดี ได้ยินเสียงไพเราะปานนั้นปานนี้ ซึ่งเอาเข้าจริงๆแล้วก็ขึ้นอยู่กับมาตราฐานของผู้เขียนแต่ละคน โดยไม่มีการเปรียบเทียบกับสายรุ่นอื่นยี่ห้ออื่นๆให้เห็นกันเท่าไหร่ ซึ่งต่างกับในต่างประเทศ หรือในวงการอื่นๆก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น การทดสอบรถSport ชั้นนำในต่างประเทศ ก็มักมีการเอารถหลายๆยี่ห้อ ในสนนค่าตัวพอฟัดพอเหวี่ยงกันมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกันแบบจะๆ ให้รู้ดำรู้แดงกันไปเลย ซึ่งในกรณีนี้ผมคิดว่าอาจเป็นเพราะผู้เขียนไม่ต้องการให้มีการกระทบยี่ห้ออื่นซึ่งอาจไม่พอใจกับผลที่ออกมาได้ อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบหลายๆรุ่น หลายๆยี่ห้อนั้น ทำให้เรามีหลักมาตราฐานในใจที่ชัดเจนขึ้น เพราะหนึ่งในตัวเลือกนั้น อาจเป็นสิ่งที่เรามีข้อมูล หรือเคยได้เห็นได้สัมผัส ทำให้เราใช้เป็นจุดอ้างอิงได้ ไม่ใช่เพียงคำพูดพร่ำพรรณาโวหาร โดยที่ผู้อ่านไม่สามารถรู้ถึงมาตราฐานของผู้เขียนได้
โดยสายที่ผมเลือกมาทั้งหมดนี้ ก็มาจากเหตุผลง่ายๆ ว่าเป็นสายที่ผมใช้อยู่ในชุดเครื่องเสียงของผมนั่นเองครับ

ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสายไฟและหัว ที่ได้มาจากร้านปิยนัส แต่ก็ได้เพิ่มสายยี่ห้อดังๆในต่างประเทศเข้ามาให้ได้มีข้อมูลเพิ่มเติมกันอีกนิดหน่อยนะครับ เอาล่ะ..ไปชมโฉมหน้าผู้เข้าแข่งขันกันได้เลยครับ

1 AudioQuest NRG-10 เข้าหัว AudioQuest NRG-500 (1.5 m.) [ราคาประมาณ 20,000]
2 JPS Labs In-Wall เข้าหัว Furutech F11(Rhodium) (1.8 m.) [ราคาประมาณ 11,000]
3 JPS Labs AC+ (2 m.) [ราคาประมาณ 18,000]
4 Furutech Alpha-3 เข้าหัว Furutech F50(Carbon) (1.5 m.) [ราคาประมาณ 27,000]
5 Nordost Heimdall II (2 m.) [ราคาประมาณ 31,000]
6 WireWorld Silver Electra 7 (1.5 m.) [ราคาประมาณ 26,000]
นอกจากนี้ ก็มีสายที่ผมเล็งๆเตรียมนำเข้ามาประจำการในระบบอีก 2-3 เส้น ซึ่งจะนำมาเข้าร่วมReview ในภายหลังนะครับ
เช่น Acoustic Art Silver, NeoTech NEP-1001 Pure Silver, Kimber Kable PK-10
ในส่วนของการทดสอบนั้น ผมใช้ทั้ง ระบบ Audio 2 Chanel และ ระบบ Home Theater 5.1 โดยมีอุปกรณ์หลักๆคือ
Audio 2 Chanel ซึ่งใช้ Pre Amp ต่อ Power Amp แบบแยกขับย่านเสียงสูง และเสียงต่ำ
Home Theater 5.1 ใช้ AVR ต่อ Pre Out เข้า Power Amp แยกขับเสียงสูง เสียงต่ำสำหรับคู่หน้า และPower Amp ขับ Center อีกตัว ซึ่งมีรายละเอียดของ System ดังนี้
Power Socket : Wattgate 381(Rh)
Power Chord : Magnet CPS-8 SE
BDP : OPPO BDP-103
HDMI : AudioQuest Coffee
HDP : DUNE Base3D
HDMI : Monster Ultimate 1000HD
CD : Rotel RCD-965BX
RCA : AudioQuest Columbia
AVR : YAMAHA RX-A2020
Pre Amp (L+R) : Rotel RC-970BX
Power Amp (L+R)(Hi) : Rotel RB-970BX
RCA : AudioQuest SKY
Power Amp (L+R)(Lo) : Rotel RB-970BX
RCA : AudioQuest Colorado
Power Amp (C) : Rotel RB-970BX
RCA : Neotech nevd 2001 Pure Silver
Front : MISSION 753 Freedom
Front Cable(Hi) : NeoTech SPC Pure Silver 4mm
Front Cable(Lo) : AudioQuest OAK
Center : KEF R-600C
Center Cable : NeoTech SPC Pure Silver 4mm
Surround : KEF LS50
Sub woofer : Polk Audio PSW-111
Sub Cable : (Bi)WireWorld Equinox 7 & AudioQuest Sub-1ในการทดสอบ ผมจะเปรียบเทียบโดยสลับเปลี่ยนแบบ AB ใน 4 จุดหลักๆ ด้วยกันคือ
1. เครื่องกรองไฟ
2. เครื่องเล่น (CD, BDP)
3. Power Amp ย่านเสียงสูง (ต่อตรงเข้าปลั๊กผนัง)
4. Power Amp ย่านเสียงต่ำ (ต่อตรงเข้าปลั๊กผนัง)
ผลการทดสอบที่ได้
1 AudioQuest NRG-10 เข้าหัว AudioQuest NRG-500 (1.5 m.) [ราคาประมาณ 20,000]

สายจากค่ายดัง(สุดๆ)เส้นนี้ เป็นสายจากประเทศอเมริกา ซึ่งจะมีรุ่น AudioQuest NRG-10 แบบ package ด้วย แต่ผมตัดสินใจใช้แบบแบ่งตัด เพื่อเข้าหัวเป็นรุ่น NRG-500แทน โดยใช้วัสดุทองเป็นองค์ประกอบหลัก AudioQuest ยังคงพัฒนาเทคโนโลยี PSC+ สืบเนื่องตามกันมาจากรหัสเก่า คือ NRG-5 แต่ได้ลดความพุ่งและความจัดจ้านลงไป ทำให้เกิดบุคลิกหลักๆคือ ความนุ่มนวลและหนักแน่น ประกอบกับความหวานที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ผมเริ่มการทดสอบโดยใช้
ขับเสียงในย่านต่ำ ซึ่งAQ ทำได้ดีมาก เสียงมีน้ำหนักและมีพลัง มวลเสียงอิ่มแน่น แต่ให้ความนุ่มนวล ไม่ดุดัน เสียงเบสชัดเจน มีการทอดตัวนิดๆ ซึ่งเมื่อมาถึงตรงนี้ ผมเริ่มมีความคิดว่า สายเส้นนี้เกิดมาเพื่อจุดที่ต้องการพลังอย่างสูง และความอิ่มแน่นของเสียงย่านต่ำ ทำให้คงไม่เหมาะกับการขับเสียงย่านสูงเป็นแน่ แต่เมื่อได้ลองฟังเข้าจริงๆในการใช้
ขับเสียงย่านสูง ถึงแม้จะไม่ได้เสียงร้องที่โปร่ง และสดใส ชัดเจนมากนัก แต่ผมกลับต้องอึ้ง ตะลึงกับความนุ่มนวล กลมกล่อม บวกกับความหวานจากเสียงร้องที่ทอดตัวได้ยาว ทำให้ฟังได้อย่างลื่นหู และยังสามารถเปลี่ยนคาแรกเตอร์ของสายลำโพงเงินแท้ 100% ที่ใช้ขับในย่านสูงอยู่ โดยไม่ออกอาการ”สด”เกินไป ให้เห็นแม้แต่น้อย แม้จะเร่งเสียงให้ดังขึ้นเท่าไหร่ ก็ไม่มีลูกเจี๊ยวจ๊าว บาดหูให้ได้ยินเลย ทำให้ผมต้องรีบท่องให้ขึ้นใจเลยว่า เจ้านี่เป็นตัวเก็งสำหรับ Power Amp ย่านความถี่สูงของผมแน่ๆ
หลังจากนั้น ผมเริ่มนำมาทดลองกับ
เครื่องเล่น OPPO ดูบ้าง ความรู้สึกที่ได้ ยังไม่ประทับใจเท่าที่ควร ซึ่งน่าจะเกิดจากสายเส้นนี้เหมาะกับจุดที่ใช้กำลังสูงๆ อย่างเครื่องกรองไฟ หรือPower Amp มากกว่า ประกอบกับบุคลิกที่ให้เสียงอิ่มแน่นมีพละกำลัง จึงทำให้เสียงฟังดูทุ้ม และได้ความโปร่งชัดกับรายละเอียดเพียงระดับกลางๆ และผลที่ได้เมื่อใช้กับ
CD Player ก็ไม่ต่างกันมากนัก แต่ก็ให้น้ำเสียงที่ไพเราะกว่าเล็กน้อย สุดท้ายเมื่อลองนำมาใช้กับ
เครื่องกรองไฟ สามารถถ่ายทอดคาแรกเตอร์ของหัว NRG-500 ออกมาได้อย่างเด่นชัด เสียงสามารถแสดงออกถึงรายละเอียดออกมาได้อย่างครบถ้วนในทุกย่านความถี่ โดยถึงแม้ในช่วงพีคแค่ไหนก็ไม่มีอาการกำลังไม่พอออกมาให้เห็นเลย แต่ก็แฝงลักษณะเฉพาะของสายให้เห็นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่จุดไหนก็ตาม
2 JPS Labs In-Wall เข้าหัว Furutech F11(Rhodium) (1.8 m.) [ราคาประมาณ 11,000]

สาย In-Wall เส้นแดงแปร๊ด จากค่าย JPS Labs ซึ่งก็เป็นอีกค่ายดังจากฝั่ง US เช่นกัน โดยจริงๆแล้วเป็นสายแบ่งตัด ที่ใช้เดินภายในห้องระดับ Hi-End แต่เนื่องจากคุณภาพที่สูงเกินราคา จนทำให้เกิดความนิยมนำมาทำสายไฟต่อท้ายเครื่อง ซึ่งคู่แท้ที่ตามหากันจนเจอก็คือเจ้าหัว Furutech นั่นเอง ส่วนจะใช้หัวทองหรือโรเดียม ก็แล้วแต่แนวเสียงที่ต้องการล่ะครับ สำหรับสายเส้นนี้นั้น มีความโดดเด่นในด้านความโปร่งใส และรายละเอียดที่ดี ให้ความสว่าง และชัดเจนได้เกินราคาไปไกลเลยทีเดียว
สำหรับเจ้า In-Wall เส้นนี้ก็เป็นที่พอทราบกันอยู่แล้วว่าเหมาะกับพวกเครื่องเล่นต่างๆ รวมถึง DAC หรือภาค Pre ซึ่งต้องการรายละเอียดที่ดีมากกว่าพละกำลัง เพราะฉะนั้นผมจึงขอฟังข่าวดีก่อนแล้วกัน โดยจับเข้าทดลองกับ
เครื่องเล่น CD Rotel หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ลองเปลี่ยนสายไฟไปหลายเส้นแล้วในตำแหน่งนี้ เมื่อถึงคราว in-wall ได้ทำหน้าที่ ผมแทบไม่เชื่อหูตัวเองกับผลลัพธ์ที่ได้ เพราะสายเส้นนี้สามารถกินสายไฟราคาสูงกว่าเป็นเท่าตัวได้กระจุยกระจาย เสียงที่ได้มีความโปร่ง สดใส ฟังสบาย เสียงร้องและรายละเอียดชัดเจน ทอดตัวได้ดี เสียงเบสและการควบคุมจังหวะก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน ต่างกับเส้นอื่นๆเช่น NRG หรือแม้แต่รุ่นพี่อย่าง AC+ ที่ยังออกอาการทึบกว่าเล็กน้อย อาจเป็นเพราะอิทธิพลจากหัว Rhodium ซึ่งช่วยถ่ายทอดรายละเอียดและความสว่างสุกใสเพิ่มเข้ามาให้จนได้ความกลมกล่อมที่ลงตัว ซึ่งเมื่อมาถึง ณ จุดนี้ ผมขอแนะนำได้อย่างไม่กลัวเสียหน้าเลยว่า ท่านใดที่กำลังมองหาสายไฟซักเส้นมาใช้กับเครื่องPlayerของท่านในราคาราวๆ 1 หมื่นแล้วล่ะก็ JPS Labs In-Wall + Furutech เส้นนี้จะไม่ทำให้ท่านผิดหวังอย่างแน่นอนครับ
เอาล่ะหลังจากได้ฟังข่าวดีกันไปแล้ว ลองสลับตำแหน่งกันดูบ้าง เมื่อต่อกับ
เครื่องเล่น Blu-ray OPPO ก็ยังคงใกล้เคียงกับเดิม แต่จะไปได้ไม่สุดเท่าเครื่องเล่น CD ซึ่งดู match กว่าเล็กน้อย และ เมื่อนำสายเส้นนี้มาใช้กับ
Power ย่านความถี่ต่ำ ก็ได้เสียงที่มีความกลมกล่อม แต่ยังขาดความกระชับและหนักแน่นของเบส และเสียงกระเดื่องจากกลอง ซึ่งยังมีอาการทอดตัวอยู่นิดๆ เวทีและมิติของเสียงทำได้ในระดับกลางๆ แต่การควบคุมจังหวะและเสียงย่านกลางก็ยังทำได้ไม่เลวทีเดียว และเมื่อขยับมาใช้
ขับย่านเสียงสูงนั้น ได้ผลที่น่าพอใจขึ้นอีกเล็กน้อย เสียงร้องมีความสดใสและชัดเจน สายสามารถนำข้อดีต่างๆเมื่ออยู่กับPlayer ตามมาแสดงให้เห็นได้บ้าง แม้จะdropลงไปนิดๆก็ตาม สุดท้ายคือการลองในตำแหน่ง
เครื่องกรองไฟ อาจเป็นเพราะใช้กับหัว Furutech รุ่นเริ่มต้นเท่านั้น (F11) จึงมีอาการเอาไม่อยู่ให้เห็นบ้างเล็กน้อย รายละเอียดบางอย่างลดน้อยลง Dynamic ของเสียงไม่เด่นชัดอย่างที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามต้องอย่าลืมว่าสายเส้นนี้ต้องแบกน้ำหนักขึ้นชกค่อนข้างเยอะ ด้วยสนนราคาค่าตัวที่ต่ำกว่าคู่ต่อสู้ค่อนข้างมาก ซึ่งอีกไม่ช้าผมจะลองนำหัว F28(R) มาแทนที่ ถึงตอนนั้นรุ่นพี่ๆคงต้องมีหนาวกันบ้างล่ะครับ กับสายที่คุ้มค่าเงินที่สุดเส้นนี้
3 JPS Labs AC+ (2 m.) [ราคาประมาณ 19,000]

มาถึงคิวสายรุ่นพี่จาก JPS Labs ดูบ้าง สายเส้นนี้เป็นสายแบบ Package รุ่นยอดนิยมอีกรุ่น เนื่องจากเป็นรุ่นรองจากสายสุด Hi-End ของค่ายนี้ ซึ่งก็คือ JPS Labs Kaptovator และ Aluminata ในตำนาน แต่ด้วยสนนราคาค่าตัวราว 5 หมื่น – หลักแสนบาท ทำให้ผู้ที่งบยังไม่ถึงก็ลงมาจับต้องเจ้า AC+ แทนได้อย่างไม่เสียหาย เพราะ AC+ นั้นเป็นสายที่มีความลงตัวสูง สามารถใช้ได้กับทุกๆตำแหน่งโดยไม่มีอาการ”หลุด”ให้เห็นแม้แต่น้อย สิ่งที่น่าแปลกใจสำหรับผมก็คือ แม้จะเป็นสายจากคนละค่าย แต่เจ้า JPS Labs AC+ กลับมีแนวเสียงที่ได้ใกล้เคียงกับ AudioQuest NRG-10 + NRG-500 ซะเหลือเกิน จนตั้งเงี่ยหูฟังอยู่หลายรอบกว่าจะจับความแตกต่างได้
ผมเริ่มต้นทดลองเจ้านี่กับ
Power ในย่านความถี่ต่ำ ผลที่ได้ใกล้เคียงกับ AQ เหลือเกิน เสียงมีความหนักแน่นแต่นุ่มนวลและไหลลื่น เสียงเบสนั้นมีพลัง โดยมีการทอดตัวนิดๆ มีความกระชับระดับกลางๆ ถึงแม้ AC+ จะให้เสียงที่หนักแน่นทรงพลัง แต่กลับรู้สึกฟังสบาย โดยไม่มีอาการรบเร้าให้รู้สึกเครียดแต่อย่างใด หากทดลองในยามวิกาลก็อาจจะเผลอหลับได้เลยทีเดียวล่ะครับ เพราะฉะนั้นผมก็เลยรีบลุกไปเปลี่ยนเข้า
Power ย่านเสียงสูงก่อนที่จะหลับเข้าจริงๆดีกว่าครับ เมื่ออยู่ในตำแหน่งนี้ แม้จะทำได้ดีเช่นกันโดยแทบไม่มีข้อบกพร่อง เสียงมีความกลมกล่อมละมุนละไม รายละเอียดต่างๆทำได้ดีทีเดียว แม้จังหวะร้องเสียงสูงที่เร่งจนพีค ก็ไม่มีอาการหลุดหรือออกลูก”คม”ให้เห็น แต่ก็ต้องยอมรับว่า ความน่าทึ่งที่ AQ ทำไว้ในจุดนี้ ก็ยังไม่สามารถลบล้างออกไปได้ง่ายๆ
ผมขยับต่อไปในตำแหน่ง
Player ซึ่งเมื่อได้ยินแล้วก็มีความคิดว่า AC+ นั้น อาจจะไม่ได้เหมาะกับตำแหน่งนี้ที่สุด แต่ก็ฟังได้ไพเราะระดับนึงทีเดียว สายทำได้ดีในด้าน เวทีและมิติเสียงที่ดี มีความลึกสูง การควบคุมจังหวะและ Dynamic ทำได้ดี อาจจะฟังไม่โปร่งและสดใสนัก ความชัดเจนยังคงมีอยู่ในระดับนึง สุดท้ายก็นำมาทดสอบกับ
เครื่องกรองไฟ ซึ่งก็ไม่ทำให้ผิดหวัง AC+ ทำได้ดีไม่เป็นรองคู่แข่งอื่นๆเลย เสียงมีความหวานผสมผสานกับรายละเอียดและจังหวะจะโคนที่ชัดเจน เสียงร้องทอดตัวได้ยาว เสียงกลางและต่ำแสดงออกมาได้หนักแน่นและทรงพลัง โดยมีจุดเด่นที่การควบคุมจังหวะที่ลงตัวในทุกตัวโน้ต รวมถึงการแยกเครื่องเล่นแต่ละชิ้นได้ดี ให้เวทีและมิติของเสียงได้อย่างลงตัว จึงสรุปได้ว่า JPS Labs AC+ เป็นสายที่ยกระดับ System ได้อย่างดี และไม่ใช่ประเภทยาแก้โรคต่างๆ เพราะมันมีคุณสมบัติของการเป็นตัวยืนอย่างครบถ้วน และสามารถใช้ได้กับอุปกรณ์ทุกประเภทเลยครับ
4 Furutech Alpha-3 เข้าหัว Furutech F50(Carbon) (1.5 m.) [ราคาประมาณ 27,000]
ผมSet up สายเส้นนี้ขึ้นมาเนื่องจากความคันอยากรู้บางอย่าง ซึ่งมีที่มาจากความยอดเยี่ยมของหัวปลั๊ก Furutech ที่สร้างความประทับใจให้กับหลายๆคนมาแล้วมากมาย วันนึงก็เลยมีความคิดว่า ในเมื่อ Furutech นั้นมีความชำนาญในด้านสายไฟอย่างล้นหลาม ถ้านำของที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีของ Furutech มาทำสายไฟซักเส้น คงจะได้อะไรที่ไม่ธรรมดาเป็นแน่แท้ ว่าแล้วก็นำสาย Alpha-3 ซึ่งเป็นสายไฟที่ดีที่สุดของค่ายนี้ มาเจอกับหัว F50 Carbon ซึ่งเป็นหัวปลั๊กที่ดีที่สุดของ Furutech เช่นกัน ผลจะเป็นเช่นไร
ผมเริ่มตั้งสมมติฐานว่า Alpha 3 + Carbon นั้นคงเป็นสายที่ให้พละกำลังได้อย่างเหลือล้นไม่มีวันหมดสิ้นกันเลยทีเดียว จากข้อมูลที่ได้อ่านได้ฟังมา จึงเริ่มโดยนำมาขับ
Power เสียงย่านต่ำ เมื่อเปิดฟังเพลงแรกผมก็เผลอยิ้มออกมาไม่หุบเลยทีเดียว เสียงเบสมีกำลังกว่าสายเส้นอื่นๆที่เคยได้ลองมาแทบทุกเส้นถึงแม้จะเปิดvolumeเท่ากัน เสียงมีกำลังสูงมาก และที่น่าประทับใจไปมากกว่านั้นคือเบสมีความกระชับออกมาเป็นลูกๆอย่างชัดเจน หัวโน้ตมีความคมชัด และเก็บตัวได้เร็ว จนผมแทบลืมไปเลยว่า Sub ที่ใช้อยู่เป็นเพียง Polk PSW-111 เท่านั้น ว่าแล้วก็ขอฟังต่อไปอีกหลายต่อหลายเพลง ก่อนจะเปลี่ยนไป
ขับย่านเสียงสูงดูบ้าง ผลที่ได้ยังคงน่าประทับใจเช่นเคย เสียงมีรายละเอียดระยิบระยับ ปลายเสียงมีความพริ้วไหว และชัดเจนอย่างมาก แต่เมื่อฟังไปซักระยะก็รู้สึกว่ามีความชัดและมีอาการพุ่งเจือปนอยู่เล็กน้อย เนื่องด้วยตัวสาย Alpha-3 นั้นมีส่วนผสมของเงินอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน รวมถึงหัว F50 Carbon นั้น ก็ยังคงใช้ Rhodium เป็นส่วนผสมหลักอยู่ จึงไม่น่าแปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก แต่ก็เป็นอาการที่เล็กน้อยเท่านั้นซึ่งจะมีโอกาสได้ยินเฉพาะบางเพลงในบางท่อนจริงๆ
หลังจากนั้นผมก็มาลองเสียบกับ
Player ดูบ้าง คราวนี้ Furutech ทำได้ในระดับกลางๆ ถึงแม้จะมีความไพเราะ แยกเครื่องดนตรีได้อย่างชัดเจนและสมจริงทุกชิ้น เวทีเสียงเปิดกว้าง โปร่งและสดใสเป็นประกาย แต่บางครั้งก็มีอาการคมอยู่บ้างแต่ไม่ถึงกับบาดหู สุดท้ายเมื่อลองในตำแหน่ง
เครื่องกรองไฟ รอยยิ้มที่หุบหายไปก็เริ่มเผยอกลับมาอีกครั้ง สายเส้นนี้ช่วยยกระดับ system ขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด โดยมีรายละเอียดเล็กๆน้อยๆและความหนักหน่วงเมื่อถึงจังหวะโหมของเครื่องดนตรีทุกชิ้นขึ้นมา ซึ่งแสดงออกมาให้ได้ยินอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งเสียงเบส เครื่องดนตรี และเสียงร้องดูมีพลัง เหมือนได้ค่าจ้างเพิ่มกันทั้งวงเลยทีเดียว ซึ่งก็สมคำร่ำลือว่าทั้ง Alpha 3 และหัว Carbon นั้นสามารถปลดปล่อยพละกำลังได้อย่างล้นเหลือจริงๆครับ
5 Nordost Heimdall II (2 m.) [ราคาประมาณ 31,000]

สายเส้นนี้เป็นสายที่ผมใฝ่ฝันอยากได้มานานแล้ว เนื่องจาก Nordost เป็นค่ายที่มีชื่อเสียงโด่งดังมานานของอเมริกา นักเล่นรุ่นเก่าๆมักจะพูดถึงกันอยู่เสมอๆ โดยปัจจุบันก็มีรุ่น 2 ออกมาแทนรุ่น 1 ซึ่งเป็นดาวค้างฟ้ามายาวนานเลยทีเดียว โดยมีรุ่นเริ่มต้นคือ Purple Flare, Blue Heaven, Red Dawn และเมื่อขยับมาเป็นรุ่นสูงขึ้นก็จะเป็น Heimdall, Frey, Valhalla และรุ่น Flag Ship อย่าง ODIN โดยเหตุที่เลือกรุ่น Heimdall 2 นั้นก็เพราะเป็นรุ่นที่ขยับมาใช้เทคโนโลยีแกนนำเดียวกันกับรุ่น Valhalla อันโด่งดังนั่นเองครับ จึงถือว่าเป็นรุ่นคุ้มค่าสำหรับหลายๆคนที่มองสายไฟจากค่ายนี้อยู่
เมื่อเริ่มต้นทดลองกับ
เครื่อง CD Player เสียงที่ได้มีความสดใสและชัดเจน รายละเอียดระยิบระยับต่างๆมีให้ครบแบบไม่ต้องไปหาที่ไหนอีก เสียงร้องมีความหวานหางเสียงทอดตัวได้ยาว แต่เสียงเบสกลับมีอาการหุบลงไปเล็กน้อย(จริงๆก็ไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่หรอกครับ เพราะ Nordost ก็มีเอกลักษณ์ในด้านนี้อยู่แล้ว) แต่โดยภาพรวมถือว่าทำได้ดีไม่ใช่เล่น เพราะสิ่งที่ชดเชยมาให้นั้นมันยอดเยี่ยม จนต้องยอมรับว่าหากท่านไม่ใช่คอเบสที่เน้นเสพเสียงเบสกันหนักหน่วงจริงๆแล้วล่ะก็ Heimdall II เส้นนี้คงเป็นหนึ่งในสายที่ถอดไม่ค่อยจะออกเลยทีเดียวครับ หลังจากนั้นผมก็ขยับไปใส่กับ
เครื่องกรองไฟดู สายสามารถยกระดับเครื่องเสียงขึ้นมาได้เช่นกัน ความกลมกล่อมละมุนละไม และจังหวะจะโคนต่างๆทำได้ดีทีเดียว แต่ก็คงต้องมาตกม้าตายที่เสียงเบสเช่นเดิมซึ่งก็ยังคงผ่อนลงไปอย่างที่สังเกตุได้ไม่ยาก
เอาล่ะ..มาลองขับเสียงเบสตรงๆให้รู้กันไปเลย โดยผมนำมาเสียบ
Power Amp ที่ใช้ขับย่านความถี่ต่ำ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าน่าผิดหวังจริงๆครับกับหน้าที่นี้ เสียงเบสฟังดูผ่อนลงไปเยอะ แม้จะได้ความสะอาดและความกระชับประกอบกับตัวโน้ตที่แยกแยะได้ดี แต่ก็ต้องเดินไปเร่ง volume ขึ้นอีกหลายระดับจึงจะช่วยให้ดีขึ้น สุดท้ายเมื่อนำมา
ขับเฉพาะย่านเสียงสูง และตัดเสียงเบสทั้งหลายทั้งมวลออกไปจนหมดสิ้น โอ้โห..คราวนี้ล่ะครับ ต้องบอกว่าสมราคาคุย Heimdall II ทำได้ดีมากกับตำแหน่งนี้ ความไพเราะอ่อนหวาน และรายละเอียดระยิบระยับเป็นประกายสุกใส ซึ่งหาที่ติแทบไม่เจอ ทำให้ฟังเพลงเดิมๆได้ไพเราะขึ้นมาอย่างผิดหูผิดตา เสียงมีความสมดุล จนต้องขอฟังแถมต่ออีกหลายเพลง และเมื่อมาถึงจุดนี้ก็ทำให้ผมนึกเปรียบเทียบกับ AQ NRG10+NRG500 ขึ้นมาเลย เพราะต่างทำหน้าที่ในการขับเสียงสูงได้อย่างไม่เป็นรองกัน โดย AQ จะได้เสียงที่อิ่มแน่น เนื้อร้องหวานและทอดตัวได้ดีกว่า แต่ Nordost จะเอาชนะได้ในด้านเสียงปลายที่พริ้วไหวเป็นประกาย ความระยิบระยับกรุ๊งกริ๊งของชิ้นดนตรีที่มีให้ได้ยินกันอย่างไม่มีเบื่อ ก็คงสรุปได้ว่า Nordost ก็ยังคงเป็น Nordost วันยังค่ำ หากนี่เป็นสิ่งที่ท่านค้นหา Heimdall II ก็คงเป็นคำตอบในใจเส้นแรกๆที่ท่านไม่ควรมองข้ามในบรรดาสายไฟงบราวๆ 3 หมื่นเส้นนี้ครับ
6 WireWorld Silver Electra 7 (1.5 m.) [ราคาประมาณ 26,000]

มาถึงเส้นสุดท้ายกันแล้วนะครับ WireWorld เป็นค่ายดังของฝั่ง US ซึ่งมีชื่อเสียงมานานและเป็นที่นิยมในประเทศผู้ผลิตเป็นอันมาก มักได้รับรางวัลการันตีอยู่ไม่ขาดสาย แต่ยังไม่ถึงกับเป็นที่แพร่หลายในบ้านเรานัก โดยที่ WireWorld เริ่มมีชื่อเสียงคุ้นหูมาจาก Series 5 และได้พัฒนาต่อมาเป็น 5.2, 6 และมาถึงรุ่น 7 ในปัจจุบัน ซึ่งใช้แกนนำทองแดงบริสุทธิ์คู่ขนาน พร้อมทั้งใส่เทคโนโลยีขจัดเสียงรบกวน เพื่อเพิ่มความสงัดและรายละเอียดที่ดีขึ้น ในส่วนของสายไฟนั้นจะมีด้วยกัน 5 รุ่น คือ Platinum Electra, Silver Electra, Electra, Aurora และ Stratus สำหรับสาย Silver Electra 7 เส้นนี้เป็นรุ่นรองท็อปสูงสุดของ WW
ก่อนจะเริ่มฟังเจ้าสายเส้นแบนเส้นนี้ ผมขอเล่าให้ฟังซักนิดว่า ผมเคยได้ยินเรื่องการเบิร์นสายไฟมาก็บ่อย แต่ก็ไม่ค่อยจะให้ความสำคัญนัก เพราะส่วนใหญ่เมื่อพ้นเบิร์น ผมก็เห็นความแตกต่างเพียงไม่เกิน 5%เท่านั้น แต่กับเจ้า WW7 เส้นนี้ โอ้โหมันแตกต่างราวฟ้ากับเหวเลยครับ แรกเริ่มเดิมทีเมื่อลองแกะฟังใหม่ๆ ผมอยากจะร้องไห้กับราคาค่าตัวที่ซื้อมาเหลือเกิน มีความรู้สึกอยากจะโยนทิ้งไปให้พ้นๆ แต่ก็เสียดาย เลยทนๆฟังไป หลังจากเวลาผ่านพ้นไปเรื่อยๆ เมื่อพ้น 100 ชม.ความพยศที่เคยมีมาก็ถูกทำให้เชื่องขึ้น WW7 เริ่มแสดงศักยภาพออกมาให้ได้เห็น ถึงตอนนี้ก็พร้อมจะขึ้นสังเวียนประลองกับคู่แข่งแล้วครับ
ผมเริ่มต้นจากตำแหน่ง
เครื่องกรองไฟ เสียงที่ได้ยินบอกได้คำเดียวเลยว่า WW เส้นนี้เป็นสายที่มีพละกำลังสูงอย่างไม่เป็นรองใครเลยครับ เสียงมีความหนักแน่น ดุดัน อีกทั้งรายละเอียดต่างๆ ของทั้งเนื้อร้องและชิ้นดนตรีถูกขับขานพรั่งพรูออกมาอย่างเหลือรับประทาน เอาเป็นว่าเสียงไหนเคยได้ยินเฉพาะสายเส้นโน้นเส้นนี้ พอมาถึงคิวเจ้า Silver Electra 7 ก็จัดมาให้หมด ไม่ต้องกลัวขาดตกบกพร่อง แต่สิ่งที่รู้สึกขาดไปคือความกลมกล่อมละมุนละไมของดนตรี รู้สึกเหมือนนักร้อง นักดนตรีแต่ละคนแย่งกันโชว์พลังของตัวเองแบบไม่ค่อยสนโลกเท่าไหร่ เสียงเพลงยังขาดความผ่อนคลายที่ลงตัว พอกลัวจะเริ่มเครียดก็เลยเปลี่ยนไปใส่ที่
Player ดูบ้าง จุดเด่นจุดด้อยต่างๆยังคงไม่ต่างจากเดิม แต่การคุมจังหวะดนตรียังทำได้ไม่ดีนัก
หลังจากนั้นก็มาลองกับ
Power Amp ย่านความถี่ต่ำดูบ้าง ณ จุดนี้ WW7 ทำคะแนนตีเสมอ พร้อมยิงประตูแซงคู่แข่งแบบถล่มทลายเลยทีเดียวครับ เสียงเบสมีความหนักแน่นทรงพลัง ออกตัวได้อย่างกระชับ มาเป็นลูกๆชัดเจน จนฟังเสียงโน้ตออกได้อย่างง่ายดาย ซึ่งทำได้ดีกว่าสายทุกเส้นที่เคยลอง จะกินกันไม่ลงก็เพียง Furutech Carbon เท่านั้น ผมบอกกับตัวเองไว้เลยว่า จะจัดเจ้านี้จะไปอยู่กับ SubWoofer ของผมแบบลืมถอดไปเลย มันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้จริงๆครับ สุดท้ายของท้ายสุดก็จัดไปลอง
ขับด้านเสียงสูงดูบ้าง ผลที่ได้ก็ถือว่าใช้ได้ในระดับนึง เสียงร้องมีความชัดเจน รายละเอียดดี แม้จะไม่หวานละมุนมากแต่ก็อาจจะเข้าทางบางคนได้ไม่ยาก
เอาล่ะครับเมื่อได้ลองกันไปครบทุกเส้นแล้ว ผมก็ทำตารางสรุปคะแนนออกมาให้เห็นกันจะๆ ซึ่งก็เป็นดังนี้
แก้ไขคะแนนล่าสุด เมื่อ 19/09/13 เมื่อถึงตรงนี้ผมต้องบอกก่อนนะครับว่า ข้อมูลทุกอย่างรวมถึงตัวเลขที่เห็นทั้งหมดมาจากความคิดเห็นของผมและเพื่อนๆบางคนเท่านั้น ไม่สามารถนำไปเป็นหลักเกณฑ์ตายตัวได้ เพราะต่างคนก็ต่างมาตราฐานต่างความชอบครับ ไม่เช่นนั้นทุกท่านก็คงเลือกซื้ออุปกรณ์เครื่องเสียงยี่ห้อเดียวกันหมด หรือคนชอบเพลง Hip Hop กับคนชอบเพลง Classic ก็คนเถียงกันจนโลกแตกว่าเพลงไหนมันเพราะน่าฟังกว่ากัน ผลลัพธ์สุดท้ายก็อยู่ที่หูน้าๆทุกคนนั่นแหละครับ ชัวร์ที่สุดในโลก
แต่ก่อนจบขอบอกความลับอะไรบางอย่างครับ เมื่อผมได้ข้อสรุปและนำสายที่ได้คะแนนสูงสุดของแต่ละจุด ไปจัดเข้าประจำการในตำแหน่งถนัดของมันอย่างพร้อมหน้า เรียกว่าทีมรวมดาราชุดใหญ่เลยทีเดียว ผลที่ได้กับไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดตามที่คิดไว้ ผมกลับรู้สึกว่าเคยสับไปสับมาบางจังหวะแล้วมันฟังเพราะกว่านี้ นี่ล่ะครับ เสน่ห์ของการเล่นเครื่องเสียง ไม่ใช่ว่าการนำสิ่งที่ดีที่สุดในแต่ละจุดมายำเข้าด้วยกัน แล้วมันจะดีที่สุดเสมอไป
ถ้างั้นมันก็ไม่มันส์น่ะสิครับ 